ภัยร้ายที่มาพร้อม โรคอ้วนลงพุง ไม่ควรนิ่งนอนใจ
หากคุณเป็นคนที่ชอบทานอาหารรสจัด ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่าง ของหวาน ของมัน ของทอด เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่ายากที่จะห้ามใจ แต่หากลองนึกถึงสุขภาพของคุณในระยะยาวอาจไม่คุ้ม เพราะอาหารประเภทของมัน ของทอด ของหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
อย่างเช่น โรคอ้วนลงพุง ตัวต้นเหตุที่จะนำไปสู่การเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด
รู้เท่าทัน โรคอ้วนลงพุง อันตรายกว่าที่คิด
ภาวะอ้วนลงพุง หรือ โรคอ้วนลงพุง คือ ภาวะที่มีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป โดยไขมันในช่องท้องสามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือด และไปสะสมที่บริเวณอวัยวะต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือกลุ่มโรค NCDs ได้ นอกจากนี้ภาวะอ้วนลงพุงยังเป็นกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงที่ประกอบไปด้วย การมีไขมันในช่องท้องมากเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และระดับไขมันในเลือดสูง ทั้งหมดนี้จะเพิ่มโอกาสในการเสี่ยงเป็น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือดได้
อย่างไรก็ตาม ไขมันในช่องท้องมีโอกาสทำให้การเผาผลาญน้ำตาลของร่างกายผิดปกติ จึงเกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ตับอ่อนต้องสร้างอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้มีความสมดุล ซึ่งเมื่อตับอ่อนทำงานหนักเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จนนำไปสู่โรคเบาหวาน
- ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็น โรคอ้วนลงพุง
โรคอ้วนลงพุง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม การทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมน การรับประทานแต่อาหารแคลอรีสูง และผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
- รู้เท่าทันภาวะอ้วนลงพุงจากมาตรฐาน BMI และการวัดรอบเอว
วิธีการลดภาวะอ้วนลงพุง สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมอาหาร การคำนวณอาหารที่ทานในแต่ละวันให้เหมาะสมกับค่า BMI ตามสัดส่วนร่างกายของแต่ละคน ซึ่งปกติค่า BMI จะอยู่ที่ 18.5-22.9 kg/m²
แต่ถ้าหากมีค่า BMI 23-24.9 kg/m² นั่นแปลว่าคุณมีน้ำหนักเกิน หรือมีค่า BMI > 25 kg/m² ถือว่าคุณเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนอย่างเป็นทางการแล้ว
เลือกรับประทานอาหารอย่างไร ให้ห่างไกล โรคอ้วนลงพุง
แน่นอนว่าการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำให้สุขภาพแข็งแรง และได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่สำหรับผู้ที่เป็นภาวะอ้วนลงพุง จะแบ่งอาหารตามหลักโภชนาการ ดังนี้
- หลักโภชนาการ 2:1:1
การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และได้รับสารอาหารครบถ้วน จะช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยใน 1 จานให้แบ่งอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วนแรกเน้นทานผัก อีก 1 ส่วนเป็นข้าว หรือแป้ง และอีก 1 ส่วนสุดท้ายคือเนื้อสัตว์ ซึ่งการทานอาหารภาวะโภชนาการ จะช่วยควบคุมไขมันส่วนเกินในร่างกาย
- การเลือกทานผลไม้
ผลไม้ ควรเลือกทานเป็นผลไม้ที่ไม่หวานมาก เช่น ฝรั่ง แอปเปิล หรือชมพู่ เป็นต้น โดยทานครั้งละไม่เกิน 1 กำมือ และหากมีอาการหิวแนะนำให้ดื่มนมถั่วเหลืองแบบไม่หวาน จะช่วยให้คุณอิ่มท้อง และช่วยรักษาระดับน้ำตาลไม่ให้มากเกินที่กำหนด
- การดื่มน้ำ
การดื่มน้ำเพื่อรักษาสมดุล และป้องกันโรคอ้วน หากเป็นผู้หญิงควรดื่มน้ำประมาณ 2.7 ลิตรต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรดื่มน้ำ 3.7 ลิตรต่อวัน ซึ่งการดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น และระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญการลดปริมาณอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ยังช่วยรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
- มื้อดึก ตัวอันตรายที่ควรเลี่ยง
การรับประทานอาหารมื้อดึก แน่นอนว่าทำให้อ้วนได้อยู่แล้ว แต่หากหิวขึ้นมาจริง ๆ แนะนำให้เลือกทานเป็นผลไม้ อย่าง ฝรั่ง หรือแอปเปิล เพราะผลไม้เหล่านี้มีสารอาหารที่จำเป็น และช่วยให้อยู่ท้องได้โดยไม่จำเป็นต้องทานอาหารเป็นมื้อ ๆ ให้เสียสุขภาพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น